วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

รัชนี ธงไชย หญิงมั่น สร้างสรรค์ไทย

แม่แอ๊ว รัชนี ธงไชย

แม่แอ๊วจะอายุครบหกสิบปี และมูลนิธิเด็กจะจัดพิมพ์หนังสือเพื่อระลึกถึง “ความเป็นแม่แอ๊ว” สำหรับผม แม่แอ๊วก็คือพี่แอ๊ว ผมจำไม่ได้ว่ารู้จักแม่แอ๊วครั้งแรกเลยอย่างไร แต่อาจจะเป็นที่หมู่บ้านเด็กเดิม คือที่ไทรโยคใหญ่ ที่นั่นเป็นหมู่บ้านในฝันจริง ๆ หลัง ๆ ที่ไปหมู่บ้านเด็กปัจจุบัน ก็ไม่ประทับใจเหมือนที่แรก มันมีกลิ่นอายของอะไรบางอย่าง เป็นกลิ่นอายของการบุกเบิกกระมัง

คงไม่ต้องกล่าวกระมังว่่า พี่แอ๊วเป็นผู้หญิงคนแรก ๆ ในยุคนี้ ยุคก่อนหน้านี้คงจะมีบ้าง แต่ผมไม่ชำนาญเรื่องราวของประวัติศาสตร์ ที่ลาออกจากราชการ และมาทำงานเอ็น จี โอ ซึ่ง ภาษาอังกฤษเขียนว่า NGO อ่านสำเนียงแบบไทย ๆ ก็ว่า “โง่” เพราะงานเอ็น จี โอไม่มีหลักประกัน เราก็รู้กันว่า เวลานี้เอ็นจีโอล้มตายกันเป็นแถว ด้วยเหตุที่มูลนิธิฝรั่ง เดี๋ยวนี้เขาเลิกสนับสนุนเมืองไทยกันแล้ว เพราะว่า เขาถือว่า เมืองไทยพัฒนาแล้ว ใครจะทำเอ็นจีโอต้องไปทำในลาว เขมร พม่า เป็นต้น แต่พี่แอ๊วออกจากราชการมาเป็นคนแรก ๆ แล้วมาเริ่มต้นบุกเบิกโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

แม้ว่า คนหลักที่คิดค้นริเริ่มงานหมู่บ้านเด็ก โรงเรียนทางเลือกคือพิภพ ธงไชย สไตล์การทำงานของพิภพคือ การเป็นคนต้นคิด คนบุกเบิก แต่ไม่ใช่คนที่จะอยู่กับงาน โดยเฉพาะจะอยู่กับชุมชน ในแง่หนึ่ง ความสำเร็จของโรงเรียนหมู่บ้านเด็กคงจะต้องยกให้พี่แอ๊วเป็นอย่างมากเลยทีเดียว อย่างน้อยก็ในแง่ปฏิบัติการที่เป็นจริง ถ้าในยุคสมัยนี้ ก็ต้องเรียกว่า พี่แอ๊วเป็นคนมีปัญญาปฏิบัติ เป็นคนมีศิลปะในความสัมพันธ์ผู้คน และผลักดันงานไปให้ประสบความสำเร็จ แน่นอนผู้เป็นกุนซืออยู่เบื้องหลังก็คือพิภพ ที่พี่แอ๊วก็เคารพรักเป็นอย่างมาก ตามสไตล์ผู้หญิงไทยแบบโบราณ

โรงเรียนหมู่บ้านเด็กที่เดิมนั้น จะขึ้นเนินไปเล็กน้อย ที่เป็นดินปนหิน ไม่เหมาะกับการทำการเกษตร  และผืนที่ก็เล็กไปหน่อย เป็นสาเหตุให้มีการโยกย้ายหมู่บ้านเด็กอีกครั้งหนึ่ง ส่วนที่ริมฝั่งน้ำก็ลาดชันลงไป มีต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นละน้ำ สวยงามมาก พวกมันต้องตรากตรำกับน้ำเชี่ยว จึงดูแกร่งกล้า เหมือนชีวิตอาวุโสที่ยืนอยู่ริมฝั่ง เฝ้าดูพวกเราทำงานกัน ถ้าน้ำไม่มาก ยังมีหาดทรายให้ได้เล่นกันด้วย เราพาเด็กไปซักผ้ากันที่นั่น ผมยังจำได้ว่า เราพากันเอาผ้าใส่ในกะละมัง ใส่ผงซักฟอก และเอาเท้าขึ้นไปเหยียบย่ำกัน เป็นการซักผ้าที่สนุกสนานอย่างหนึ่ง 

จำได้ว่า วันคืนที่หมู่บ้านเด็กเสี้ยวหนึ่งของมันคือความสนุกสนาน ท้าทาย ที่จริง ผมได้ไปขับรถจนเป็นเรื่องเป็นราวก็ที่นั่นด้วยซ้ำ มีพงษ์ช่วยขับรถและทำงานช่างต่าง ๆ เวลาไปกินเหล้ากัน ก็จะเล่าชีวิตจับงูที่อยุธยาให้ฟัง มันเป็นอีกด้านหนึ่งของการทำงานแบบเกาะติดกับผู้คนและชุมชน เราจะเข้าไปสัมผัสกับผู้คนที่ทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด แต่พงษ์ก็เป็นใสซื่อ ในงานทุกงานจะมีคนงานเหล่านี้ร่วมทำงานกับเราอยู่ ผมยังจำเพลงร้องเล่น ที่พงษ์ร้องเวลาเมาได้ตอนหนึ่งว่า “พูดไปก็ไม่น่าเชื่อ กระต่ายขี่เสือ เข้าโรงจำนำ” มันไม่ค่อยมีความหมายอะไรนักหรอก แต่ว่า มันก็สนุกดีเวลาเมา ๆ 

 ที่อาศรมวงศ์สนิท ความแตกต่างระหว่าง คนทำงานที่เป็นปัญญาชน และแรงงานแบบชาวบ้าน แรก ๆ ก็เป็นปัญหามาก แต่พออยู่กันไปยาวนาน ก็เริ่มรักใคร่กัน อันนี้ เป็นความหนักแน่นของอาจารย์สุลักษณ์ ที่ “โต้หลง” หรืออุดหนุนคนทำงานระดับชาวบ้านมาตลอด อาจารย์จะใส่ใจกับพวกเขามาก ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์จริง ๆ พี่แอ๊วก็เช่นเดียวกัน ดูแลคนทำงานดุจเดียวกับญาติ อันนี้คงเป็นอีกทางหนึ่ง ที่ทำให้งานหมู่บ้านเด็กสำเร็จเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาได้

กับเด็ก พี่แอ๊วก็นำพาพวกเราดูแลพวกเขาดังลูกหลาน ผมยังจำเด็กหญิงผลไม้ได้(นามสมมติ) เธอเป็นเด็กพิเศษ ยังเล็กอยู่เลยเวลานั้น เธอจะติดแม่แอ๊วของเธอแจเลยทีเดียว มันเป็นครั้งหนึ่ง ที่เราเหมือนอยู่ในดินแดนของความฝัน ก็ผืนดินแบบนั้นลองคิดดูซิครับว่า อะไรจะขึ้นมากที่สุด ป่าละเมาะแบบเมืองกาณจนบุรี ก็ไผ่ไง เมืองกาญจน์มีชื่อในเรื่องป่าไผ่ เราอยู่กันอย่างพื้นบ้านมาก ๆ เรามีเตาเศรษฐกิจ ที่ปั้นด้วยดิน เพื่อประหยัดพลังงาน และครัวก็เป็นศูนย์กลางของชุมชนทุก ๆ ชุมชนแน่นอน เราก็เลยได้ใช้ไม้ไผ่มาเป็นฟืนด้วย มันมีเอกลักษณ์ของมัน ไผ่จะไหม้ไฟเร็วและให้ความร้อนแรง ตกเย็นเราจะสุมหัวกันอยู่รอบ ๆ ครัว ช่วยกันป้อนไม้ไผ่เข้าเตาไฟ ซึี่งจะต้องป้อนกันตลอดเวลา ที่จริง ผมก็ได้จีบแม่ของลูกชาย ก็เมื่อคราวอยู่ที่หมู่บ้านเด็กนี้เอง เธอมาเป็นอาสาสมัครจากธรรมศาสตร์ และนอนอยู่ที่เรือนที่เป็นครัวรวม เธอชอบเล่นกีต้า เราก็ได้เล่นได้ร้องเพลงกันพอสมควรเลยทีเดียว

การนำไผ่มาใช้ ไม่ได้จบลงแค่นั้น ตอนนั้นเปีย พี่สาวของอาจารย์อรทัย อาจอ่ำ ก็อยู่กับเราที่นั่น เราพากันทำเทียนไข หล่อเทียนกันเอง โดยเอาไผ่ต้นเล็กหน่อยมาทำแบบ เด็ก ๆ สนุกกันมาก มีความคิดฝันแลกเปลี่ยนกัน แล้วก็นำพาลงสู่การปฏิบัติ ความคิดค่อยก่อเกิดการเป็นวิถีปฏิบัติของชุมชน เราเห็นความสดใสชื่นบานของเด็ก ๆ เมื่อไม่มีแรงกดดันอันโง่เขลาของบรรดาพวกผู้ใหญ่เด็ก ๆ เขาก็เติบโตกันเอง ชีวิตไม่น่าเบื่อหน่ายเลย มีนวัตกรรมใหม่ ทั้งทางความคิด และการประดิษฐ์คิดค้น หาเรื่องทำ หาเรื่องกิน กันไปเรื่อย ในบรรยากาศที่สุขสงบ 

พี่แอ๊วเป็นคนยอมรับคนอื่น ยอมรับความคิดดี ๆ ของคนอ่ืน แต่เหนืออื่นใด พี่แอ๊วยอมรับความคิด ข้อแนะนำของพิภพ ธงไชยมากที่สุด อันนี้ ก็คือ ความเป็นศรีกัลยาณี ความคิดความเชื่อเรื่องบทบาทของหญิงที่เป็นภรรยาอย่างโบราณของไทยเรา ผมเห็นความงามอยู่ในนี้นะครับ และต้องนับว่า ยอดเยี่ยมที่พี่เขาสามารถประคับประคองชีวิตคู่มาได้อย่างยืนยาว ไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชรอะไรอย่างนั้น แต่ก็น่าจะเป็นจุดอ่อนของหมู่บ้านเด็กหรือเปล่า พร้อม ๆ กับที่อาจจะเป็นจุดอ่อนของที่อื่น ๆ ด้วย ที่พยายามสร้างสังคมในอุดมคติ คือ เรามักจะหล่อเลี้ยงคนดี ๆ คนเก่ง ๆ ให้อยู่กับเราไม่ได้ เรามักจะมีแต่เบอร์สอง หรือไม่ก็เบอร์สามไปเลย ที่จะทนทำงานอยู่ร่วมกับเราได้

อีกประการหนึ่ง ที่ไม่น้อยไปกว่า ก็คือ การทำงานมากเกินไป อาจจะเกี่ยวกับการไม่มีเบอร์สองที่เพียงพอ หรือแทบไม่มีเอาเลย ผู้หญิงอีกคนในยุคเดียวกันที่ผมรู้จัก ที่มีภาพข้างนอกสวยงามมากอีกคนหนึ่ง ก็คือ พี่แดง เตือนใจ ดีเทศน์ คนเหล่านี้ มีความสามารถ งานจึงวิ่งเข้ามาประดังประเด และพวกเธอก็อุทิศตน อุทิศตัวเพื่อสังคม แต่ไม่มีเวลา คำนี้สำคัญมาก คนเราเมื่อไม่มีเวลา เราไม่อาจทำอะไรที่เป็นเลิศได้เลย ปริมาณมันมีมากพอแล้วครับ สำหรับสังคมนี้ แต่เราจะหาคุณภาพได้ที่ไหน แน่นอน พี่แอ๊วสร้างคุณภาพใหม่ ตลอดเวลา กับงานหมู่บ้านเด็ก และงานล้อบบี้เพื่อการศึกษาทางเลือก เพื่อให้ขึ้นมาเป็นการศึกษาทางหลัก ซึ่งไม่มีใคร ไม่มีใครจริง ๆ ที่ทุ่มตัวเท่าพี่แอ๊วของผม แต่ผมห่วงสุขภาพของพี่นะครับ และบางที หากมีเวลา งานที่มีคุณภาพที่ก่อเกิด อาจจะมีพลังแปรธาตุเปล่ียนโครงสร้างอันอยุติธรรมให้ยุติธรรมได้มากกว่า กระมัง